วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

สัปดาห์ที่17-บุคคลสำคัญสมัยอยุธยา

17-บุคคลสำคัญสมัยอยุธยา


บุคคลสำคัญสมัยอยุธยา
  • การที่ประเทศไทยของเราสามารถดำรงอยู่ได้อย่างน่าภาคภูมิใจในสังคมโลกปัจจุบันนี้ได้นั้น ก็เพราะว่าแต่ละยุคสมัยที่ผ่านมาเราคนไทยมีบรรพบุรุษที่มีความกล้าหาญเสียสละในการปกป้องและ สร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและสังคมมาโดยตลอด ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึง สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและชาวบ้านบางระจัน เป็นตัวอย่างของพระมหากษัตริย์และประชาชน สมัยอยุธยาที่ทำประโยชน์ต่อบ้านเมือง อันสมควรที่เยาวชนคนไทยทั้งหลายจะยกย่องสรรเสริญ และยึดถือเป็นแบบอย่าง
                       
อนุสาวรีย์วีรชนชาวบ้านบางระจัน

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ.2133 - 2148)

  • สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเป็นพระอัจฉริยะบุคคลอย่างเต็มภาคภูมิ ในยุคสมัยของพระองค์ ทรงเป็นนักการทหารที่มีพระปรีชาสามารถสูงเยี่ยม จนเป็นที่เล่าขานของคนร่วมสมัยทั่วไป พระองค์เป็นสัญลักษณ์ของความเด็ดเดี่ยว กล้าเผชิญปัญหา ที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งคือ ทรงเป็นแบบฉบับของนักการปกครอง ที่ทรงอุทิศพระองค์เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินไทย โดยคำนึงถึงความสุขสบาย ส่วนพระองค์เลย จนวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ


พระราชประวัติ


  • พระนเรศวรทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชและพระวิสุทธิ์กษัตรี ประสูติที่เมืองพิษณุโลกเมื่อ พ.ศ. 2098 ทรงมีพระพี่นางหนึ่งองค์และพระอนุชาผู้ซึ่งครองราชย์ สมบัติต่อมาคือ สมเด็จพระเอกาทศรถ
  • พระนเรศวรถูกส่งไปเป็นตัวประกันที่เมืองพะโค(หงสาวดี) เมื่อพระชนมายุ 9 พรรษา ในคราวที่พระเจ้าบุเรงนองกษัตริย์พม่า ยกทัพมาตีหัวเมืองฝ่ายเหนือและยึดเมืองพิษณุโลกไว้ได้และต่อมาก็ตีกรุงศรีอยุธยาได้ในปี พ.ศ. 2112 พระมหาธรรมราชาธิราชได้ขึ้นครองราชย์สมบัติในฐานะเมืองขึ้นของพม่า
  • สมเด็จพระนเรศวรได้เสด็จกลับมากรุงศรีอยุธยา เมื่อพระชนมายุ 16 พรรษา โดยได้รับการ สถาปนาให้เป็นเจ้าเมืองพิษณุโลก มีตำแหน่งในฐานะอุปราชหรือวังหน้า เมื่อพระราชบิดาเสด็จ สวรรคต พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์สมบัติขณะมีพระชนมายุได้ 35 พรรษา
  • ทรงเสด็จสวรรคตที่เมืองฉาง รัฐฉานในพม่า เมื่อ พ.ศ. 2148 พระชนมพรรษาได้ 50 พรรษา พระอนุชาคือพระเอกาทศรถได้เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติสืบต่อมาพระเกียรติคุณ
  • สมเด็จพระนเรศวรทรงเป็นที่รู้จักในฐานะ "วีรกษัตริย์" หรือในพระนาม "พระองค์ดำ" ทรงพระปรีชาสามารถในการสงครามและการปกครอง อีกทั้งพระองค์ยังเป็นนักการต่างประเทศที่ทรงพระปรีชาสามารถในการดำเนินนโยบายอย่างกล้าหาญอีกด้วย
  • ในช่วงที่เสด็จกลับมาจากพม่า สมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงมอบหมายให้พระองค์เสด็จไปปกครองหัวเมืองเหนือ โดยประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลก ในระยะเวลา 14 ปีที่ทรงปกครองหัวเมืองเหนือนั้นพระองค์ดำเนินการหลายอย่าง ที่เป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการสงครามกอบกู้เอกราช เช่น ฝึกทหาร รวบรวมกำลังคนที่หลบหนีพม่าเข้าป่า ฝึกฝนยุทธวิธีการรบต่าง ๆ
  • สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงแสดงพระปรีชาสามารถในการช่วยกษัตริย์พม่ารบหลายครั้ง เช่น การปราบเจ้าฟ้าไทยใหญ่เมืองดังได้สำเร็จ ทำให้เป็นที่ไม่ไว้วางใจของพม่าและวางแผนที่จะลอบปลง พระชนม์ แต่พระองค์ทรงล่วงรู้ถึงแผนการเสียก่อน ดังนั้นพระองค์จึงทรงประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นกับพม่าที่เมืองแครง ในปี พ.ศ. 2127

พระเกียรติคุณ

  • สมเด็จพระนเรศวรทรงเป็นที่รู้จักในฐานะ "วีรกษัตริย์" หรือในพระนาม "พระองค์ดำ" ทรงพระปรีชาสามารถในการสงครามและการปกครอง อีกทั้งพระองค์ยังเป็นนักการต่างประเทศที่ทรงพระปรีชาสามารถในการดำเนินนโยบายอย่างกล้าหาญอีกด้วย
  • ในช่วงที่เสด็จกลับมาจากพม่า สมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงมอบหมายให้พระองค์เสด็จไปปกครองหัวเมืองเหนือ โดยประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลก ในระยะเวลา 14 ปีที่ทรงปกครองหัวเมืองเหนือนั้นพระองค์ดำเนินการหลายอย่าง ที่เป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการสงครามกอบกู้เอกราช เช่น ฝึกทหาร รวบรวมกำลังคนที่หลบหนีพม่าเข้าป่า ฝึกฝนยุทธวิธีการรบต่าง ๆ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงแสดงพระปรีชาสามารถในการช่วยกษัตริย์พม่ารบหลายครั้ง เช่น การปราบเจ้าฟ้าไทยใหญ่เมืองคังได้สำเร็จ ทำให้เป็นที่ไม่ไว้วางใจของพม่าและวางแผนที่จะลอบปลง พระชนม์ แต่พระองค์ทรงล่วงรู้ถึงแผนการเสียก่อน ดังนั้นพระองค์จึงทรงประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นกับพม่าที่เมืองแครง ในปี พ.ศ. 2127 

ด้านการปกครอง

  • เมื่อขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา สมเด็จพระนเรศวรได้เริ่มขยายอำนาจไปยังเมืองต่าง ๆ เช่น ล้านช้าง  เชียงใหม่  ลำปางและกัมพูชาได้ตกเป็นเมืองขึ้นของอยุธยา 
  • เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการศึกสงครามหลายครั้ง รวมทั้งความพยายามฟื้นฟูอยุธยาหลังจากที่ถูก ปกครองโดยพม่า ทำให้พระองค์ทรงดำเนินนโยบายการปกครองที่เน้นระเบียบวินัยเข้มงวด 
  • นอกจากนี้ ทรงดำเนินนโยบายการปกครองแบบดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง โดยส่งขุนนางออกไปปกครองเมือง สำคัญต่าง ๆ เช่น เมืองพิษณุโลก เมืองสุโขทัย เมืองพิชัย

การขยายแสนยานุภาพทางการทหาร


  • สมเด็จพระนเรศวรทรงกระทำศึกสงครามเพื่อปกป้องบ้านเมืองตั้งแต่ก่อนขึ้นครองราชย์สมบัติ และเกือบตลอดรัชสมัยที่ทรงครองราชย์ ทั้งการสงครามกับพม่าและเขมรที่ยกกองทัพเข้ามารุกราน หัวเมืองของอาณาจักรอยุธยา ดังที่ชาวต่างชาติชาวฮอลันดาที่เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาได้พรรณนา เกี่ยวกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราชว่า ทรงเป็นนักรบที่เก่งกาจ เป็น "วีรบุรุษนักรบ" ทรงรบชนะข้าศึก หลายครั้งและในหลายดินแดน

การขยายอำนาจทางการทหารของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

  • ทำให้เขตแดนอาณาจักรอยุธยา แผ่ขยายออกไปกว้างไกลที่สุดนับแต่สถาปนาอาณาจักรขึ้นมา ครอบคลุมทั้งเขตแดนมอญ พม่า ล้านนา ไทยใหญ่ ล้านช้างและเขมร พระองค์ทรงอุทิศเวลาตลอดรัชสมัยในการทำสงครามเสริมสร้างความมั่นคงและความยิ่งใหญ่ให้กับอยุธยา จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ

เหตุการณ์สงครามยุทธหัตถี


  • พ.ศ. 2135 กองทัพพม่าโดยพระมหาอุปราชาพระโอรสของพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง เป็นแม่ทัพ คุมไพร่พลจำนวน 240,000 คน มาทางด่านเจดีย์สามองค์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงยกทัพออกไป รับศึกที่บ้านหนองสาหร่าย เมืองสุพรรณบุรี สงครามครั้งนี้มีความสำคัญและเป็นที่เลื่องลือในการสู้รบระหว่างสองอาณาจักร นั้นคือสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาแม่ทัพพม่า ที่บ้านหนองสาหร่าย สุพรรณบุรี และทรงใช้พระแสงของ้าวฟัน์ พระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์บนคอช้าง ทัพพม่าแตกพ่ายกลับไปและหลังจากสงครามครั้งนี้กรุงศรีอยุธยาว่างเว้นการสงครามกับพม่าเป็นเวลานานมากกว่า 150 ปี

ด้านการต่างประเทศ

  • สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงพยายามรักษาความสัมพันธ์อันดีกับต่างประเทศทั้งด้านการฑูต และการค้า พระองค์ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการค้านานาชาติเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการค้าทางทะเลเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจอยุธยาซึ่งได้รับความเสียหายจากสงคราม
  • การฟื้นฟูกรุงศรีอยุธยา ประการหนึ่งของพระองค์ก็คือ ทรงอนุญาตให้พ่อค้าชาวต่างชาติโดยเฉพาะพ่อค้าตะวันตกเข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยา ชาวต่างชาติที่เข้ามาในรัชสมัยนี้ คือ ชาวดัตซ์หรือฮอลันดา พระองค์ทรงโปรด ฯ ให้ฮอลันดาเข้ามาตั้งสถานีการค้าที่อยุธยาและเมืองอื่น ๆ เช่น ภูเก็ต นครศรีธรรมราช สงขลา


สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

พระราชประวัติ


  • สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิบดีที่ 2 (เจ้าสามพระยา) กับพระราชธิดาของพระมหาธรรมราชาที่ 2 แห่งสุโขทัย  พระองค์จึงเป็นเชื้อสายราชวงศ์สุพรรณบุรีและราชวงศ์พระร่วง  ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งของอยุธยา    


พระราชกรณียกิจที่สำคัญ  

1. การรวมอาณาจักรสุโขทัยเข้ากับอยุธยา

  • เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถขึ้นเสวยราชย์ใน พ.ศ. ๑๙๙๑ นั้น ทางสุโขทัยไม่มีพระมหาธรรมราชาปกครองแล้ว คงมีแต่พระยายุทธิษเฐียร  พระโอรสของพระมหาธรรมราชาที่ ๔   ได้รับแต่งตั้งจากอยุธยาให้ไปปกครองเมืองพิษณุโลก ถึง พ.ศ. ๑๙๙๔  พระยายุทธิษเฐียรไปเข้ากับพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา  พระราชมารดาของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ปกครองเมืองพิษณุโลกต่อมาจนสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ.๒๐๐๖  สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้เสด็จไปประทับที่พิษณุโลกและถือว่าอาณาจักรสุโขทัยถูกรวมเข้ากับอาณาจักรอยุธยานับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา


2. ด้านการปฏิรูปการปกครอง


  • สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถมีพระประสงค์ที่จะดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางหรือราชธานี  จึงลดบทบาทของเจ้านายลงและเพิ่มอำนาจให้ขุนนาง  เพื่อป้องกันการแย่งชิงอำนาจจากเชื้อพระวงศ์ เช่น ลดฐานะเมืองลูกหลวง เมืองหลานหลวงลงเป็นเมืองชั้นจัตวาและส่งขุนนางไปปกครองแทนเจ้านาย มีการแยกฝ่ายทหารและพลเรือนโดยใช้ขุนนางตำแหน่งสมุหพระกลาโหมดูแลกิจการฝ่ายทหาร  สมุหนายกดูแลกิจการฝ่ายพลเรือนทั่วราชอาณาจักร 
  • ทรงตรากฎมนเทียรบาลขึ้นเพื่อความมั่งคงของสถาบันกษัตริย์  นอกจากนี้ยังทรงตราพระราชกำหนดศักดินาได้แก่  พระอัยการตำแหน่งนาพลเรือนและพระอัยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง   พ.ศ. ๑๙๙๘  เพื่อประโยชน์ในการลำดับชั้นของบุคคลว่ามีศักดิ์ สิทธิ์ และอำนาจหน้าที่ต่างกันอย่างไร  เป็นการจัดระเบียบการปกครองให้มีแบบแผนรัดกุมกว่าเดิม
  • ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ อยุธยาทำสงครามยืดเยื้อกับอาณาจักรล้านนา ซึ่งมีพระเจ้าติโลกราชเป็นกษัตริย์ (ครองราชย์ พ.ศ. ๑๙๘๔ - ๒๐๓๐)  ทำให้สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถประทับที่เมืองพิษณุโลกนานถึง ๒๕ ปี  เพื่อดูแลหัวเมืองฝ่ายเหนือและเพื่อความสะดวกในการป้องกันการรุกรานของล้านนา  ในระยะนี้จึงถือว่าเมืองพิษณุโลกมีฐานะเป็นราชธานีของอาณาจักรอยุธยา
  • สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสวรรคตใน พ.ศ. 2031  ทรงอยู่ในราชสมบัติ 40 ปี นับว่านานที่สุดในบรรดากษัตริย์อยุธยาทุกพระองค์

สัปดาห์ที่16-ภูมิปัญญาไทยสมัยอยุธยา

16-ภูมิปัญญาไทยสมัยอยุธยา

ภูมิปัญญาไทยสมัยอยุธยา

  • ภูมิปัญญา ตรงกับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Wisdom หมายถึง ความรู้ ความสามารถ ทักษะความเชื่อ และศักยภาพในการแก้ปัญหาของมนุษย์ที่สืบทอดกันมาจากอดีตถึงปัจจุบันอย่างไม่ขาดสายและเชื่อมโยงกันทั้งระบบทุกสาขา
  • ภูมิปัญญา  หมายถึง  ความรู้  ทักษะ  ความเชื่อ  และพฤติกรรมของคนไทย  โดยแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน  คนกับธรรมชาติ  การปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของบุคคล  ชุมชนและสังคม  ตลอดจนพื้นฐานความรู้เรื่องต่าง  ๆ  ที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง 
  • ภูมิปัญญาไทย หมายถึง ความรู้ ความสามารถ ทักษะและเทคนิคการตัดสินใจ ผลิตผลงานของบุคคล อันเกิดจากการสะสมองค์ความรู้ทุกด้านที่ผ่านกระบวนการสืบทอด พัฒนาปรับปรุง และเลือกสรรมาแล้วเป็นอย่างดีสามารถแก้ไขปัญหา และพัฒนาวิถีชีวิตของคนไทยได้อย่างเหมาะสมกับยุคสมัย

ภูมิปัญญาด้านศาสนาและความเชื่อ


  • พระพุทธศาสนาและศาสนาฮินดูมีบทบาทต่อการวางรากฐานระบบการเมืองบ้านเมืองเป็นปึกแผ่นคติความเชื่อนี้ได้หล่อหลอมสังคมอยุธยาให้เป็น อันหนึ่งอันเดียวกัน เกิดจากความเหมาะสม ทางสภาพภูมิศาสตร์และความรู้ที่สะสมมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษทำให้อยุธยาเป็นแหล่งเพาะปลูก 
  • โดยเฉพาะการปลูกข้าวซึ่งการปลูกข้าวถือเป็นภูมิปัญญาที่สำคัญของคนอยุธยาที่รู้จักคัดเลือก พันธุ์ข้าวให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศที่น้ำท่วมถึง คือข้าวพันธุ์พิเศษนอกจากนี้ชาวอยุธยารู้จักปลูกต้นไม้ผลไม้ในบริเวณที่เป็นคันดินธรรมชาติ (Natural Levee) ที่ขนานไปกับแม่น้ำลำคลองผลไม้เหล่านี้ได้รับปุ๋ยธรรมชาติทำให้มีรสชาติอร่อย พระพุทธศาสนาได้หยั่งรากลึกอยู่ในสังคมอยุธยา
  • ผู้มีความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาย่อมเชื่อว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ทำให้พ้นทุกข์เนื่องจากมนุษย์ต้องเวียนว่าย ตายเกิดอันเกิดจากกฎ แห่งกรรมและเรื่องนรก สวรรค์ นอกจากนี้ยังเชื่อในเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่ว่าทุกสิ่งคืออนิจจังภูมิปัญญา
  • จากความเชื่อนี้ทำให้ชาวอยุธยาสามารถ เผชิญกับปัญหาความทุกข์ยากต่างๆในชีวิตได้ด้วยความอดทน นอกจากนี้การที่สังคมอยุธยาเป็นสังคมนานาชาติที่มีคนต่างชาติต่างศาสนาเข้ามาตั้งถิ่นฐาน โดยพระมหากษัตริย์อยุธยาทรงอนุญาตให้ปฏิบัติพิธีกรรมและเผยแผ่ศาสนาได้โดยเสรี ความเป็นสังคมนานาชาติเกิดจากความเข้าใจและเห็นคุณค่าขันติธรรมในเรื่องศาสนาภูมิปัญญาด้านศาสนาทำให้คนอยุธยาหลักในการดำเนิน   ชีวิตเพื่อความสุขขิงตนเองและการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นในสังคม 
  • ภูมิปัญญาในสมัยอยุธยาสามารถประยุกต์ใช้ในสังคมปัจจุบัน คือ การรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมการนำเทคโนโลยีบางอย่างที่เหมาะสมมาปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ในการประกอบอาชีพและความอดทนเข้าใจผู้อื่นที่มีเชื้อชาติ ศาสนาหรือมีความคิดแตกต่างกับตนเอง โดยมุ่งทำให้สังคมมีความสงบสุข
 ภูมิปัญญาด้านการประกอบอาชีพ


  • อยุธยาเป็นอาณาจักรที่มีความรุ่งเรือง เศรษฐกิจของอยุธยามีทั้งที่ทำการเกษตรและการค้าภายใน ต่อมาจึงพัฒนาเศรษฐกิจเป็นการค้ากับนานาชาติ ภูมิปัญญาในด้านเกษตรกรรมชาวสวนผลไม้อยุธยา ได้ปรับปรุงพันธุ์ผลไม้จนทำให้ผลไม้ที่มีชื่อเสียง 
  • ในปัจจุบันด้วยภูมิปัญญา ดังนี้อยุธยาจึงมีปริมาณอาหาร พอเพียงกับความต้องการ ของพลเมือง ทำให้สามารถพึ่งตนเองได้ เพราะอาหารหลัก คือ ข้าวสามารถปลูกเองได้ สำหรับพืชผักและกุ้ง หอย ปู ปลา หาได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วไป
  • สภาพภูมิประเทศของอยุธยามีคูคลองเป็นจำนวนมาก ชาวอยุธยาใช้ประโยชน์จากคูคลองที่ปรียบเสมือนเป็นถนนให้เป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญในสมัยอยุธยาตอนต้นได้มีการคมนาคมการขุดคลองลัด เพื่อย่นระยะทางจากปากแม่น้ำ เช่น คลองลัดบางกอกใหญ่ เพื่อความสะดวกในการคมนาคมขนส่งตั้งแต่ยุคกลาง เป็นต้นมา อยุธยาส่งข้าวเป็นสินค้าหลักไปขายยังต่างแดนเช่น ที่เมืองจีน 
  • นอกจากนี้ความเหมาะสมของที่ตั้งอยุธยาไม่ห่างจากทะเลมากนักและมีสินค้าหลากหลายชนิด ทำให้พ่อค้าต่างชาติเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายกับอยุธยาทำให้อยุธยากลายเป็นเมืองท่านานาชาติโดยเฉพาะในพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓ พระมหากษัตริย์อยุธยา
  • โปรดคัดสรรชาวต่างชาติให้เข้ารับราชการ โดยเฉพาะหน่วยงานทางทหารและการค้าในด้านการค้าชาวต่างชาติ เหล่านี้มีความชำนาญทั้งด้านการค้าและการเดินเรือ มีความรู้ด้านภาษาและเข้าใจวัฒนธรรมของชาติที่อยุธยาติดต่อค้าขายด้วยการรับชาวต่างชาติเข้ารับราชการ แสดงถึงภูมิปัญญาของชาวอยุธยาที่รู้จักเลือก ใช้คนที่มีความชำนาญให้เป็นผู้รับผิดชอบงานต่างๆอยุธยาจึงสามารถขนส่งสินค้าบรรทุกสำเภาไปขายยังเมืองท่าดินแดนต่างๆได้โดยสะดวก
  • สำเภาอยุธยายังแสดงให้เห็นภูมิปัญญาไทย กล่าวคือพระมหากษัตริย์โปรดให้ต่อสำเภาโดยช่างชาวจีน เป็นเรือสำเภาประเภท ๒ เสา คล้ายกับสำเภาจีนซึ่งแล่นอยู่ตามทะเลจีนใต้ ใบเรือทั้งสองทำด้วยไม้ไผ่สานซึ่งหาได้ง่ายและมีน้ำหนักเบา ส่วนใบเรือด้านบนสุดและด้านหัวเรือใช้ผ้าฝ้ายซึ่งเป็นวัดุที่ชาวอยุธยาทอใช้ในครัวเรือนแต่วิธีการเป็นวิธีแบบชาวตะวันตกที่ช่วยให้สำเภาเร็วขึ้นสำหรับหางเสือของสำเภาเป็นไม้เนื้อแข็งคล้ายกับสำเภาจีน (ชนิดที่เดินทางไกล) แต่ทว่าหางเสือของสำเภาอยุธยา ได้เจาะรูขนาดใหญ่ไว้ ๓ รู แล้วสอดเหล็กกล้า ยึดติดกับลำเรือทำให้บังคับเรือได้ดีและมีความคงทน
  • นอกจากนี้บริเวณกาบเรือใช้น้ำมันทาไม้และใช้ยางไม้หรือสีทา ในส่วนของเรือที่จมน้ำโดยผสมปูนขาวเพื่อป้องกันเนื้อไม้และตัวเพลี้ยเกาะซึ่งทำให้เรือผุ สำเภาอยุธยานับเป็นภูมิปัญญาของคนอยุธยาที่ใช้เทคโนโลยีผสมกันระหว่างสำเภาจีนกับเรือแกลิออทของ ฮอลันดาเพื่อให้เรือวิ่งได้เร็วและทนทาน ภูมิปัญญาของชาวอยุธยาในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมและการค้าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจ ของอยุธยามั่งคั่งรุ่งเรือง


ภูมิปัญญาด้านการตั้งถิ่นฐาน


  • การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ตั้งแต่สมัยอดีตมีความสัมพันธ์กับปัจจัยทางภูมิศาสตร์ กล่าวคือ ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้แหล่งอาหารและในที่ซึ่งมีความปลอดภัยสำหรับอยุธยาตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มดินดอน สามเหลี่ยมเจ้าพระยาตอนล่างสภาพโดยทั่วไปของพื้นที่อุดมสมบูรณ์ สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอกับความต้องการ ของชุมชน ขณะเดียวกันที่ตั้งของอยุธยายังตั้งอยู่ในบริเวณที่แม่น้ำเจ้าพระยาลพบุรี ป่าสักไหลมาบรรจบกัน ทำให้ปลอดภัยและสามารถใช้แม่น้ำลำคลองเหล่านี้เป็นเส้นทางคม นาคมติดต่อค้าขายและเข้าถึงแหล่งทรัพยากร ที่มีอยู่มากมายในหัวเมืองอื่นๆทางหัวเมืองเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือตลอดจนอาณาจักรที่อยู่ลึกเข้าไปเช่นอาณาจักรล้านนา ล้านช้าง และพุกามได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ที่ตั้งของอยุธยาอยู่ห่างจากปากน้ำเจ้าพระยาประมาณ ๒๐๐  กิโลเมตรใช้เวลาประมาณ ๓ วัน  เพื่อล่องเรือจากราชธานีไปจนถึงปากน้ำ ดังนั้นเมื่อข้าศึกยกทัพมาทะเลจึงมีเวลาเตรียมพร้อม
  • สำหรับการป้องกันเมืองการที่อยุธยา ที่มีที่ตั้งซึ่งมีสภาพแวดล้อมเช่นนี้ทำให้อยุธยามีความปลอดภัยและมีอาหารอุดมสมบูรณ์
  • อย่างไรก็ตามสภาพภูมิประเทศของอยุธยา ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก จะมีน้ำท่วมขังกินเวลานานทำให้เป็นอุปสรรคต่อการตั้งถิ่นฐานแต่ชาวอยุธยาและผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างได้ใช้ภูมิปัญญาในการแก้ปัญหาโดยการ 
  • ปลูกเรือนใต้ถุนสูงพ้นน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม เมื่อน้ำ ลดพื้นดินแห้งดีแล้วสามารถใช้ประโยชนจากบริเวณใต้ถุนเรือนซึ่งเป็นที่โล่งทำกิจกรรมภายในครัวเรือน เช่น จักสาน ทอผ้า เลี้ยงลูก หรือใช้สำหรับเก็บอุปกรณ์จับปลาและเครื่องมือมาทำนา  


 บ้านเรือนของชาวอยุธยามี ๒  ลักษณะคือ


  • ๑.เรือนชั่วคราวหรือเรือนเครื่องผูก  เป็นเรือนของชาวบ้านโดยทั่วไปสร้างด้วยไม้ไผ่หรือใบจากซึ่งเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นและสามารถรวบรวมกำลังคนในครอบครัวหรือเพื่อนบ้านปลูกเรือนได้ไม่ยาก
  • ๒.เรือนถาวรหรือเรือนเครื่องสับ  เป็นเรือนของผู้มีฐานะ เช่น ขุนนางหรือเจ้านาย ซึ่งเป็นเรือนที่สร้างอย่างประณีตด้วยไม้เนื้อแข็งหนาแน่นและทนทานไม้เหล่านี้ได้จากป่าในหัวเมืองเหนือที่ใช้วิธีล่องลงมาตามลำน้ำเจ้าพระยานอกจากเรือนยกพื้นสูงแล้วชาวอยุธยายังอาศัยอยู่ในเรือนอีกประเภทหนึ่งที่ไม่มีเสา พื้นเรือนติดน้ำแต่ลอยได้ คือเรือนแพ ที่สะดวกสำหรับการ เคลื่อนย้าย เรือนแพนี้ยังทำหน้าที่เป็นร้านค้าด้วยดังนั้นที่กรุงศรีอยุธยาจึงมีเรือนแพตั้งเรียงรายตามแม่น้ำ ลำคลอง ชาวอยุธยานอกจากจะปรับตนให้เข้ากับภูมิประเทศที่ประกอบด้วยแม่น้ำลำคลองแล้วยังใช้ภูมิปัญญาดัดแปลงแม่น้ำลำคลอง เพื่อใช้ป้องกันข้าศึกได้ด้วยตัวอย่างเช่น ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเกิดสงครามระหว่างไทยกับพม่า จึงมีการเตรียมการโดยขยายขุดลอกคลองคูขื่อหน้าเพื่อให้อยู่ในสภาพที่รับศึกได้หรือการที่มหานาควัดท่าทราย ระดมชาวบ้านขุดคลองมหานาคเป็นคูป้องกัน พระนครชั้นนอกอีกชั้นหนึ่งเมื่อ พ.ศ.๒๐๘๖ เพื่อป้องกันศึกพม่า 
  • นอกจากที่กล่าวมาแล้ว สภาพภูมิประเทศที่เป็นมาน้ำลำคลองจำนวนมาก ทำให้ชาวอยุธยามีวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการใช้เรือในการ คมนาคมเรือสำหรับชาวบ้านเป็นเรือที่ต่ออย่างง่ายๆ เช่นเรือขุดและเรือแจว  แต่คนในสมัยอยุธยามีภูมิปัญญาในการขุดเรือยาว  ที่พระมหากษัตริย์อยุธยาใช้เป็นเรือรบในการขนกำลังคนไปได้เป็นจำนวนมาก พระมหากษัตริย์เสด็จพยุหยาตราเพื่อเสด็จไปทำสงครามและไดพัฒนาเป็นกองทัพเรือ ในเวลาที่บ้านเมืองเป็นปกติพระมหากษัตริย์ทรงใช้เรือเหล่านี้เสด็จพระราชดำเนินในพิธีต่างๆ เช่นพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน โดยจัดขบวนเรือรบซึ่งเท่ากับเป็นการซ้อมรบโดยปริยาย

สัปดาห์ที่15-สังคมสมัยอยุธยา

สังคมสมัยอยุธยา

สังคมสมัยอยุธยา

สภาพสังคมไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา


  • สังคมไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา แม้ว่าจะต่อเนื่องมาจากสังคมสมัยสุโขทัย แต่ก็ได้มีความเปลี่ยนแปลงแตกต่างไปจากสังคมสมัยสุโขทัยหลายด้าน ทั้งนี้ก็เพราะว่าสถาบันสูงสุดของการปกครองได้เปลี่ยนฐานะไป นั่นคือ พระมหากษัตริย์ได้เปลี่ยนฐานะจากมนุษยราช
  • ในสมัยสุโขทัยเป็นเทวธิราชขึ้นในสมัยอยุธยา เปลี่ยนจากฐานะความเป็น "พ่อขุน" มาเป็น "เจ้าชีวิต" ของประชาชนซึ่งเป็นผลให้ระบบและสถาบันทางการปกครองต่างๆ แตกต่างไปจากสังคมไทยสมัยสุโขทัยด้วยชนชั้นของสังคมสมัยอยุธยา
  • สังคมอยุธยา เป็นสังคมที่เต็มไปด้วยชนชั้น นับตั้งแต่การแบ่งแยกชนชั้นอย่างเด็ดขาด ระหว่างกษัตริย์กับราษฎรแล้ว พระบรมวงศานุวงศ์ ก็มีอันดับสูงต่ำลดหลั่นกันเป็นชั้นๆ ในหมู่ราษฎร ก็มีการแบ่งชนชั้นกันเป็นชนชั้นผู้ดีกับชนชั้นไพร่ ในหมู่ข้าราชการก็มีศักดินาเป็นตัวกำหนดความสูงต่ำของข้าราชการในชนชั้นต่างๆ ซึ่งชนชั้นต่างๆ เหล่านี้ จะก่อให้เกิดมีสิทธิในสังคมอยุธยาขึ้นแตกต่างกันด้วย
  • ชนชั้นสูงสุดในสมัยอยุธยาคือพระบรมวงศานุวงศ์ ส่วนข้าราชการหรือขุนนางนั้น ก็แบ่งเป็นชั้นๆ ลดหลั่นกันไปตามลักษณะหน้าที่และความรับผิดชอบ พร้อมกับตำแหน่งหน้าที่แล้ว ราชการสมัยอยุธยายังมีศักดินาซึ่งมากน้อยตามตำแหน่งหน้าที่ ระบบศักดินานี้เป็นระบอบของสังคมอยุธยาโดยแท้ เพราะศักดินานั้น ทกคนต้องมีตั้งแต่ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ พระบรมวงศานุวงศ์ลงไปจนถึงข้าราชการชั้นผู้น้อย และประชาชนธรรมดา จำนวนลดหลั่นลงไป
  • นอกจากจะแบ่งตามหน้าที่ตำแหน่งและความรับผิดชอบแล้ว ชนชั้นในสังคมอยุธยา ยังแบ่งออกกว้างๆ เป็นสองชนชั้นอีก คือ ผู้มีศักดินาตั้งแต่ 400 ขึ้นไป เรียกว่าชนชั้นผู้ดี ส่วนที่ต่ำลงมาเรียกว่า ไพร่ แต่ไพร่ก็อาจเป็นผู้ดีได้ เมื่อได้ทำความดีความชอบเพิ่มศักดินาของตนขึ้นไปถึง 400 แล้ว และผู้ดีก็อาจตกลงมาเป็นไพร่ได้หากถูกลดศักดินาลงมาจนต่ำกว่า 400 การเพิ่มการลดศักดินา
  • ในสมัยอยุธยาก็อาจทำกันง่ายๆ หากได้ทำความดีความชอบหรือความผิด การแบ่งคนออกเป็นชนชั้นไพร่ และชนชั้นผู้ดีเช่นนี้ ทำให้สิทธิของคนในสังคมแต่ละชั้นต่างกัน สิทธิพิเศษต่างๆ ตกไปเป็นของชนชั้นผู้ดีตามลำดับแห่งความมากน้อยของศักดินา เช่นผู้ดีเองและคนในครอบครัวได้รับยกเว้นไม่ถูกเกณฑ์ไปใช้งานราชการ ในฐานะที่เรียกกันว่า แลก เมื่อเกิดเรื่องศาล ผู้ดีก็ไม่ต้องไปศาล เว้นแต่ผิดอาญาแผ่นดิน เป็นขบถ ธรรมดาผู้ดีจะส่งคนไปแทนตนในโรงศาล มีทนายไว้ใช้เป็นการส่วนตัว นอกจากนั้น ก็ยังมีสิทธิเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทได้ในขณะที่เสด็จออก ขุนนาง เมื่อมีสิทธิก็ต้องมีหน้าที่ ผู้ดีที่มีศักดินาสูงๆ จะต้องคุมคนไว้จำนวนหนึ่ง เพื่อรับราชการทัพได้ในทันที
  • เมื่อพระมหากษัตริย์เรียก เช่น ผู้มีศักดินา 10,000 และมีหน้าที่บังคับบัญชากรมกอง ซึ่งมีไพร่หลวงสังกัดอยู่ ก็ต้องรับผิดชอบกะเกณฑ์คนแข็งแรงและมีประสิทธิภาพด้วย


สังคมอยุธยา


  • สังคมอยุธยานั้น กฎหมายกำหนดให้ทุกคนต้องมีนาย ตามกฎหมาย ลักษณะรับฟ้องมาตรา 10 กล่าวว่า "ราษฎรรับฟ้องร้องด้วยคดีประการใดๆ แลมิได้สังกัดมูลนายอย่าพึงรับไว้บังคับบัญชาเป็นอันขาดทีเดียว ให้ส่งตัวผู้นั้นแก่สัสดี เอาเป็นคนหลวง" จะเห็นว่า ไพร่ทุกคนของสังคมอยุธยาต้องมีสังกัดมูลนายของตน ผู้ไม่มีนายสังกัดกฎหมายไม่รับผิดชอบในการพิทักษ์รักษาชีวิตและทรัพย์สิน ไพร่จะต้องรับใช้ชาติในยามสงคราม จึงต้องมีสังกัดเพื่อจะเรียกใช้สะดวก เพราะในสมัยอยุธยานั้น ไม่มีทหารเกณฑ์หรือทหารประจำการในกองทัพเหมือนปัจจุบัน จะมีก็แต่กองทหารรักษาพระองค์เท่านั้น 
  • นอกจากนั้น เป็นเพราะสมัยแรกตั้งกรุงศรีอยุธยา ต้องใช้ชายฉกรรจ์จำนวนมากในการปกป้องข้าศึก ศัตรู ความจำเป็นของสังคมจึงบังคับให้ราษฎรต้องมีนาย เพราะนายจะเป็นผู้เกณฑ์กำลังไปให้เมืองหลวงป้องกันภัยจากข้าศึกศัตรู และนายซึ่งต่อมากลายเป็น "เจ้าขุนมูลนาย" ต้องมีความรับผิดชอบต่อลูกหมู่ของตน ถ้านายสมรู้ร่วมคิดกับลูกหมู่ทำความผิด ก็ถูกปรับไหมตามยศสูงต่ำ และหากลูกหมู่ของตนถูกกล่าวหาว่าเป็นโจรปล้นทรัพย์ มูลนายก็ต้องส่งตัวลูกหมู่ให้แก่ตระลากร
  • สังคมอยุธยาจึงเป็นสังคมที่ต้องมีความรับผิดชอบมากอยู่ มีกฎเกณฑ์ต่างๆ มากมาย เพราะลักษณะและองค์ประกอบของสังคมซับซ้อนกว่าสังคมสุโขทัย

ระบบราชการสมัยกรุงศรีอยุธยา

  • ลักษณะสังคมไทยที่น่าสนใจอยู่อีกประการหนึ่งคือ ระบบราชการ ซึ่งเป็นเครื่องผูกมัดราษฎรให้มีภาระต่อแผ่นดิน ชีวิตคนไทยได้ผูกพันอยู่กับราชการมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน ข้าราชการในสมัยอยุธยา เรียกว่า ขุนนาง มียศหรือบรรดาศักดิ์ชั้นพระยาหรือออกญาเป็นชั้นสูงสุด และลดลงไปตามลำดับคือ เจ้าหมื่น พระ จมื่น หลวง ขุน จ่า หมื่น และพัน ส่วนเจ้าพระยา และสมเด็จพระยานั้น เกิดในตอนปลายๆ สมัยอยุธยา ส่วนยศ เจ้าหมื่น จมื่น และจ่านั้น เป็นยศที่ใช้กันอยู่ในกรมหาดเล็กเท่านั้น 
  • ส่วนตำแหน่งข้าราชการสมัยอยุธยาก็มี อัครมหาเสนาบดี เสนาบดี จางวาง เจ้ากรม ปลัดกรม และสมุหบัญชี เป็นต้น ตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี และเสนาบดีนั้นในระยะแรกๆ มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยา ต่อมาในระยะหลังๆ ก็เป็นเจ้าพระยาไปหมด ส่วนตำแหน่งอื่นๆ ตั้งแต่ จางวาง เจ้ากรม ปลัดกรมลงมาจนถึงสมุบัญชีนั้น มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาบ้าง พระบ้าง จนถึงหลวง และขุนตามความสำคัญของตำแหน่งนั้นๆ ข้าราชการในสมัยอยุธยา ไม่ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนหรือเงินปี ได้รับพระราชทานเพียงที่อยู่อาศัยและเครื่องอุปโภคบริโภคบางอย่าง เช่น หีบเงินใช้ใส่พลู ศาตราวุธ เรือยาว สัตว์ พาหนะ เลกสมกำลังและเลกทาสไว้ใช้สอย ที่ดินสำหรับทำสวนทำไร่ แต่เมื่อออกจากราชการแล้วก็ต้องคืนเป็นของหลวงหมดสิ้น


ไพร่สมัยอยุธยา


  • ระบบราชการของอยุธยานั้น ได้นำคนลงเป็นไพร่ สังคมอยุธยาจึงมีไพร่มีนาย ตามจดหมายเหตุลาลูแบร์กล่าวไว้ว่า "ประชาชนชาวสยามรวมกันเป็นกองทหารรักษาดินแดน" ซึ่งทุกคนต้องขึ้นทะเบียนหางว่าวกรมสุรัสวดีเข้าไว้ทั้งหมด ทุกคนเป็นพลรบต้องเกณฑ์เข้าเดือนรับราชการในพระองค์ปีละ 6 เดือน พลเมืองทั้งสิ้นต้องขึ้นทะเบียนเป็นหลักฐานไว้โดยแบ่งออกเป็นฝ่ายขวาฝ่ายซ้าย เพื่อทุกคนรู้ว่าตนต้องขึ้นสังกัดหน้าที่ฝ่ายใด นอกจากนั้น ยังแบ่งส่วนราชการออกเป็นกรมอีก แต่ละกรมมีหัวหน้าคนหนึ่งเรียกว่า นาย จนกระทั่งนายนี้เป็นคำแสดงความเคารพยกย่องที่ใช้กันทั่วไปแม้ระเบียบการปกครองสมัยอยุธยาจะแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ออกเป็นฝ่ายทหารและพลเรือน แต่ก็ปรากฏว่าใช้ได้แค่ยามปรกติเท่านั้น พอเกิดสงครามขึ้น เจ้านายทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนก็ต้องเข้าประจำกองตามทำเนียบตน ทั้งนี้เพราะกำลังพลมีน้อย ไม่อาจแยกหน้าป้องกันประเทศไว้กับทหารฝ่ายเดียวได้ จำเป็นต้องใช้หลักการรวม จึงทำให้ชายฉกรรจ์ทุกคนต้องเป็นทหาร
  • สมัยอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเรียกว่า ไพร่ ไพร่เป็นคำที่กินความกว้างขวาง เพราะผูกพันอยู่กับราชการมากกว่าทหารปัจจุบัน ในสมัยอยุธยา ไพร่คือ ประชาชนที่สังกัดมูลนายต่างๆ มีหน้าที่และความรับผิดชอบแยกออกได้ดังนี้

  • 1. ไพร่หลวง หมายถึง ไพร่ที่สังกัดวังหลวงหรือพระเจ้าแผ่นดิน ไพร่หลวงจะต้องถูกเกณฑ์เข้ารับราชการปีละ 6 เดือน คือเข้าเดือนหนึ่งออกเดือนหนึ่งสลับกันไป ถ้าไม่อยากถูกเกณฑ์เข้ารับราชการก็จะต้องเสียเงินแทน ซึ่งอาจจะเป็นเดือนละ 4-6 บาท ไพร่หลวงจะต้องสังกัดอยู่ในกรมพระสัสดีซ้าย ขวานอก ใน ไพร่หลวงที่เป็นชายเมื่อเกิดศึกสงครามก็จะต้องออกรบได้
  • 2. ไพร่สม หมายถึง ไพร่ที่สังกัดบรรดาเจ้านายหรือขุนนางใหญ่น้อยทั้งหลายในยามปรกติก็ถูกเกณฑ์แรงงานหรือรับราชการถ้าเกิดศึกสงครามผู้เป็นชายก็จะต้องออกรบ มีบางครั้งพวกไพร่หลวงหนีไปสมัครเป็นไพร่สมอยู่กับเจ้านาย กฎหมายอยุธยามีบทลงโทษถึงจำคุกและถูกเฆี่ยนถ้าหากจับได้นอกจากนั้น กฎหมายอยุธยายังได้กำหนดอีกว่า ถ้าพ่อกับแม่สังกัดแตกต่างกันเช่นคนหนึ่งเป็นไพร่หลวง อีกคนหนึ่งเป็นไพร่สม ลูกที่เกิดอาจจะต้องแยกสังกัดตามที่กฎหมายกำหนด
  • 3. ไพร่ราบ หมายถึง ไพร่ที่สังกัดมูลนาย มีอายุระหว่าง 13-17 ปี มีศักดินาระหว่าง 15
  • 4. ไพร่ส่วย คือ พวกที่ยกเว้นไม่ต้องถูกเกณฑ์เข้ามารับราชการแต่จะต้องส่งสิ่งของมาให้หลวงแทน เช่น อาจจะเป็นดีบุก ฝาง หญ้าช้าง ถ้าไม่นำสิ่งของเหล่านี้มาจะต้องจ่ายเงินแทน
  • 5. เลกหรือเลข เป็นคำรวมที่ใช้เรียกไพร่หัวเมืองทั้งหลายตลอดจนข้าทาส พวกเลกหัวเมือง ยังขึ้นกับกระทรวงใหญ่ 2 กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทย และกลาโหม มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา


ทาสสมัยอยุธยา


  • เป็นที่ยอมรับกันว่า สังคมอยุธยามีทาสไว้ใช้ ทาสเป็นชนชั้นอีกชนชั้นหนึ่งของสังคมสมัยอยุธยาและกฎหมายอยุธยาก็ได้ยอมรับการมีทาส มีบทบัญญัติเกี่ยวกับทาสไว้มากมายและได้แบ่งประเภทของทาสไว้ 7 พวกด้วยกันคือ
1. ทาสสินไถ่

2. ทาสเกิดในเรือนเบี้ย

3. ทาสได้มาแต่บิดามารดา

4. ทาสท่านให้

5. ทาสอันได้ช่วยเหลือในยามโทษทัณฑ์

6. ทาสอันได้เลี้ยงมาเมื่อเกิดทุพภิกขภัย

7. ทาสอันได้ด้วยเชลย


  • จะเห็นว่า ทาสในสมัยอยุธยานั้น เป็นทาสที่ถูกกฎหมายคุ้มครอง เป็นทาสที่มีสภาพเป็นมนุษย์และเป็นพลเมืองของชาติอย่างสมบูรณ์ ฉะนั้นคนไทยในสมัยอยุธยาจึงสมัครใจจะเป็นทาสมากกว่าจะเป็นขอทาน เพราะอย่างน้อยก็มีข้าวกินมีที่อยู่อาศัยโดยไม่เดือดร้อน

ชีวิตความเป็นอยู่และประเพณีบางอย่างสมัยอยุธยา


  • การก่อรูปสังคมนั้น โดยทั่วไปย่อมเป็นหมู่บ้านตามที่อุดมสมบูรณ์พอจะเพาะปลูกเพื่อยังชีพได้ เช่น บริเวณลุ่มแม่น้ำ ลักษณะการก่อรูปของสังคมไทยโบราณก็เป็นไปลักษณะนี้


1. บ้านเรือนสมัยอยุธยา สร้างเป็นหลังขนาดย่อมๆ

2. ผู้หญิงต้องรับผิดชอบต่อครอบครัวมากกว่าผู้ชาย

3. ชอบเล่นการพนันกันอย่างกว้างขวาง

4. ชอบสูบยาเส้น และสูบกันอย่างกว้างขวาง

5. นิยมให้ลูกชายได้ศึกษาเล่าเรียนโดยใช้วัดเป็นสถานศึกษา 

สัปดาห์ที่14-ปัจจัยที่ส่งเสริมพัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจของอาฌาจักรอยุธยา

14-ปัจจัยที่ส่งเสริมพัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจของอาฌาจักรอยุธยา



ปัจจัยที่ส่งเสริมพัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจ
ของอาณาจักรอยุธยา

โครงสร้างทางเศรษฐกิจ

            อยุธยามีพื้นฐานทางเศรษฐกิจดี  มาตั้งแต่แรกตั้งอาณาจักรเนื่องจากตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ซึ่งเอื้ออำนวยต่อการทำการเกษตร และการค้ากับต่างประเทศ

      1. เกษตรกรรม อยุธยาตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ป่าสัก และลพบุรี พื้นดินมีความอุดมสมบูรณ์สูงและเหมาะต่อการเพาะปลูกโดยเฉพาะการปลูกข้าว  ข้าวจึงเป็นผลิตผลที่สำคัญของอาณาจักร ในการปลูกข้าวนั้นประชากรส่วนใหญ่จะทำในลักษณะพอยังชีพมีการใช้เทคโนโลยีอย่างง่ายๆ โดยใช้แรงงานคนและสัตว์เป็นหลัก แต่เนื่องจากสภาพพื้นที่มีความเหมาะสมจึงมีผลผลิตค่อนข้างมากที่จะส่งส่วยให้กับรัฐซึ่งทางรัฐเองก็จะนำไปหาผลประโยชน์อีกทางหนึ่ง นอกจากข้าวแล้วประชากรยังมีการผลิตในทางการเกษตรอีกหลายประเภท เช่น ทำสวน ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ และการประมง ซึ่งผู้ปกครองเอง ก็เห็นความสำคัญของการประกอบอาชีพเกษตรดังกล่าว จึงมีนโยบายสนับสนุนด้วยวิธีการต่างๆ เช่น สนับสนุนให้ราษฎรเข้าไปทำกินในที่ดินว่างเปล่า ตรากฎหมายคุ้มครองผลผลิตของราษฎร เป็นต้น กระบวนการผลิตทางการเกษตรนั้น  ประชากรทั่วไปจะผลิตโดยใช้แรงงานครอบครัวและชุมชนตามประเพณีที่เคยปฏิบัติกันมา ส่วนการผลิตของพระมหากษัตริย์ ขุนนางจะผลิตโดยใช้การเกณฑ์แรงงานไพร่และทาส กระบวนการผลิตดังกล่าวก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมของท้องถิ่นหลายประการ เช่น การลงแขก การประกอบพิธีกรรม พืชมงคล และการทำขวัญไร่นา เป็นต้น
           
           การเกษตรเป็นเศรษฐกิจหลักที่ทำให้อยุธยามีความรุ่งเรือง บ้านเมืองมีความเจริญก้าวหน้า ทำให้อยุธยาขยายอาณาเขตประเทศออกไปอย่างกว้างขวางและสามารถเอาชนะอาณาจักรน้อยใหญ่ในดินแดนสุวรรณภูมิได้

      2. อุตสาหกรรม ผลิตผลทางอุตสาหกรรมของอยุธยา ส่วนใหญ่ คือ อุตสาหกรรมในครัวเรือน ผลิตเครื่องใช้ไม้สอยอย่างง่ายๆ รวมไปถึงเครื่องครัวเรือนของชุมชนชั้นสูงและในราชสำนัก เช่น เสื้อผ้า เครื่องจักรสาน เครื่องเหล็ก เครื่องแกะสลัก เครื่องประดับ การผลิตเครื่องทองรูปพรรณ อุตสาหกรรมที่สำคัญอีกอย่างก็ คือ การทำเครื่องปั้นดินเผา เครื่องเคลือบ ดังปรากฏหลักฐานว่ามีการพบเตาเผาภาชนะหลายเตาในบริเวณ แม่น้ำน้อย นอกจากนี้มีอุตสาหกรรมการต่อเรือขนาดเล็ก และเรือขนาดใหญ่ เพื่อใช้บรรทุกสินค้า

      3. การค้า จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่า อยุธยามีบทบาทสำคัญทั้งในแง่ของการเป็นอาณาจักรการค้า ซึ่งได้สร้างความมั่งคั่งให้กับอาณาจักรอย่างต่อเนื่องทั้งนี้เพราะสภาพที่ตั้งของอยุธยา เหมาะสมกับการค้าขายทั้งภายใจอาณาจักร และระหว่างประเทศ

             3.1  การค้าขายภายในอาณาจักร  ด้วยสภาพที่ตั้งของอยุธยาอยู่บริเวณใกล้ปากแม่น้ำเจ้าพระยา และอยู่บริเวณที่แม่น้ำสำคัญหลายสายไหลผ่าน  ดังนั้นจึงเป็นชุมชนทางการค้าที่พ่อค้าจากหัวเมืองทางเหนือ จะนำสินค้าของป่ามาแลกเปลี่ยนกับสินค้าที่มาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากพ่อค้าจีนที่เดินทางเข้ามาจอดเรือซื้อขายบริเวณปากน้ำเจ้าพระยาสินค้าเหล่านี้จะมีการค้าขายโดยผ่านพระคลังสินค้าซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ทำให้รัฐได้ผลประโยชน์จากการเป็นพ่อค้าคนกลางในการแสวงหาผลประโยชน์ดังกล่าว  ความสำคัญของการค้าทำให้รัฐได้ส่งเสริมการค้าด้วยวิธีการต่างๆ ตลอดจนออกกฎหมายควบคุมการค้า  เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจดังกล่าวดำเนินไปได้ด้วยดี  อย่างไรก็ตามแม้ว่าภาครัฐจะสนับสนุนการค้า แต่ประชากรทั่วไปก็ไม่ได้รับผลประโยชน์มากนักเนื่องจากยังคงค้าขายที่เน้นการแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ที่ตนเองต้องการมากกว่าจะแสวงหากำไร และผลประโยชน์โดยตรง ดังนั้นผู้ที่ได้ประโยชน์จากการค้าจึงจำกัดอยู่เฉพาะขุนนาง เจ้านาย ตลอดจนชาวต่างชาติ ผู้ที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในเรื่องดังกล่าว

             3.2  การค้าขายระหว่างประเทศ อยุธยานับว่ามีชัยภูมิเหมาะสมกับการค้าระหว่างประเทศเนื่องจากเป็นเมืองท่าที่อยู่กึ่งกลางเส้นทางการเดินเรือค้าขายระหว่างประเทศจีนกับประเทศอินเดีย ประกอบกับความเข้มแข็งของอำนาจทางการเมืองทำให้อยุธยาไม่มีคู่แข่งการค้าและยังเป็นศูนย์รวมของสินค้าจากเมืองท่าต่างๆ  ที่อยู่ใต้อิทธิพลทางการเมืองของอยุธยาด้วยปัจจัยดังกล่าวทำให้อยุธยา กลายเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างจีนกับอินเดีย

          สำหรับการค้าขายกับอยุธยากับประเทศในแถบเอเชีย  อยุธยาจะค้าขายกับจีน และอินเดียเป็นหลัก  นอกจากนั้นก็ค้าขายกับชาวอาหรับ  เปอร์เซีย  ส่วนการค้ากับต่างชาติตะวันตกนั้นโปรตุเกส  เป็นชาติแรกที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับอยุธยาราวพุทธศตวรรษที่ 21 ต่อจากนั้นก็ชาติอื่นๆ เช่น สเปน  ฮอลันดา  อังกฤษ  และฝรั่งเศส  เดินทางเข้ามาค้าขายซึ่งรุ่งเรืองมากในสมัยราชวงศ์ปราสาททอง  แต่เมื่อถึงรัชสมัยของราชวงศ์บ้านพลูหลวง  การค้ากับชาติตะวันตกก็ซบเซาลง

           การดำเนินกิจกรรมค้าขายกับต่างชาตินั้น รัฐจะเป็นผู้จัดการโดยหน่วยงาน “พระคลังสินค้า”  ซึ่งมีกรมท่าซ้ายดูแลรับผิดชอบการค้ากับอินเดีย และชาติอาหรับ เปอร์เซีย ส่วนกรมท่าขวาดูแลค้าขายกับจีน  และกรมท่ากลางค้าขายกับชาติตะวันตก หน่วยงานของรัฐจะดำเนินการค้าขายโดยการผูกขาดสินค้า คือ สินค้าบางอย่าง เช่น อาวุธ และสินค้าที่รัฐเห็นว่าจะขายต่อได้กำไรรัฐจะผูกขาดซื้อไว้ ส่วนสินค้าออก เช่น  ข้าว และของป่า รัฐจะกำหนดให้เป็นสินค้าต้องห้ามต้องซื้อผ่านรัฐเท่านั้น  การที่รัฐดำเนินธุรกิจแบบผูกขาดสินค้าและยังเรียกเก็บภาษี การค้าจากเรือของชาวต่างชาติ ทำให้รัฐบาลได้ผลประโยชน์อย่างมหาศาลจากกิจกรรมดังกล่าว  (อดิสร  ศักดิ์สูง. 2546 :  67  อ้างจาก ศุภรัตน์  เลิศพาณิชย์กุล  2532 : 297 – 301) จะเห็นได้ว่าการค้าส่งผลให้อยุธยามีความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจเกิดการขยายตัวของชุมชน การแลกเปลี่ยนสินค้า  การพัฒนาทางด้านสังคม นำไปสู่ความมั่นคงเข้มแข็งของอาณาจักรอยุธยา

เศรษฐกิจสมัยอยุธยา

          ความอุดมสมบูรณ์ของบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง  การมีแหล่งน้ำจำนวนมาก  ดินมีความอุดมสมบูรณ์เพราะเกิดจากการทับถมของดินตะกอนแม่น้ำ  ซึ่งเหมาะสำหรับการทำนา  ทำให้อาณาจักรอยุธยาเป็นแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญ  นอกจากนี้การมีทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมกับการค้าขายกับเมืองต่างๆ ที่อยู่ภายในตามเส้นทางแม่น้ำ และการค้าขายกับภายนอกทางเรือสำเภา  ทำให้เศรษฐกิจอยุธยามีพื้นฐานสำคัญอยู่ที่การเกษตรและการค้ากับต่างประเทศ ต่อมาได้พัฒนาเป็นศูนย์กลางทางการค้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

          1.  เศรษฐกิจในสมัยอยุธยาเป็นเศรษฐกิจแบบยังชีพที่ขึ้นอยู่กับเกษตรกรรมเช่นเดียวกับสุโขทัย พื้นฐานทางเศรษฐกิจของอยุธยาคือการเกษตร มีวัตถุประสงค์ในการผลิตเพื่อบริโภคภายในอาณาจักรตามลักษณะเศรษฐกิจแบบพอยังชีพ  แต่อาณาจักรอยุธยาได้เปรียบกว่าอาณาจักรสุโขทัยในด้านภูมิศาสตร์  เพราะอาณาจักรอยุธยาตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำอันกว้างใหญ่  แม่น้ำสำคัญคือ  แม่น้ำเจ้าพระยา  แม่น้ำป่าสัก  แม่น้ำลพบุรี  ซึ่งมีน้ำตลอดปีสำหรับการเพาะปลูก  พืชที่สำคัญคือ  ข้าว  รองลงมาได้แก่  พริกไทย  หมาก  มะพร้าว  อ้อย  ฝ้าย  ไม้ผลและพืชไร่อื่นๆ  ลักษณะการผลิตยังใช้แรงงานคนและแรงงานสัตว์เป็นหลัก  ด้วยเหตุดังกล่าว  อาณาจักรอยุธยาจึงได้ทำสงครามกับรัฐใกล้เคียงเพื่อครอบครองแหล่งทรัพยากรและกวาดต้อนผู้คนเพื่อนำมาเป็นแรงงานสำคัญของบ้านเมือง

  • ราชอาณาจักรอยุธยาได้ทำนุบำรุงการเกษตรด้วยการจัดพระราชพิธีต่างๆ เพื่อให้เป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญชาวนาให้มีกำลังใจ  เช่น พระราชพิธีพิรุณศาสตร์ เป็น พิธีขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล พระราชพิธีพืชมงคล เป็นพิธีการสร้างสิริมงคลให้กับชาวนาและแจกพันธุ์ข้าว เป็น พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็น พิธีลงมือจรดคันไถเป็นครั้งแรกเพื่อเป็นการเตือนว่าถึงเวลาทำนาแล้ว
  • อาณาจักรอยุธยาไม่ได้สร้างระบบการชลประทานเพื่อส่งเสริมการเกษตร  เนื่องจากมีแหล่งน้ำเพียงพอ  ส่วนการขุดคลองทำขึ้นเพื่อเป็นเส้นทางการคมนาคม  เพื่อประโยชน์ทางยุทธศาสตร์  และการระบายน้ำตอนหน้าน้ำเท่านั้น แม้ว่าอาณาจักรอยุธยา การเพาะปลูกยังเป็นแบบดั้งเดิมต้องพึ่งพาแรงงานคนและธรรมชาติเป็นหลัก แต่สภาพภูมิศาสตร์ที่อุดมสมบูรณ์  ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรมีเหลือเป็นจำนวนมาก  ผลผลิตทางการเกษตรเป็นสินค้าที่นำไปขายให้ชาวต่างประเทศ นำรายได้มาสู่อาณาจักร  ดังปรากฏหลักฐานว่าอยุธยาเคยขายหมากให้จีน  อินเดีย  และโปรตุเกส  ฝ้ายและมะพร้าวให้ญี่ปุ่นและมะละกา  ในสมัยอยุธยาตอนปลายได้ขายข้าวให้ฮอลันดา  ฝรั่งเศส  มลายู  มะละกา  ชวา  ปัตตาเวีย  ลังกา  จีน  ญี่ปุ่น การเกษตรจึงเป็นรากฐานสำคัญทางเศรษฐกิจของอยุธยาและมีส่วนในการเสริมสร้างราชอาณาจักร     อยุธยาให้เจริญรุ่งเรืองมาตลอดเวลา 417 ปี


          2.  อาณาจักรอยุธยาเป็นศูนย์กลางทางการค้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากทำเลที่ตั้งของอาณาจักรอยุธยาเอื้ออำนวยต่อการค้า  กล่าวคือ  ศูนย์กลางอาณาจักรตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะสมกับการค้า  ทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร  กล่าวคือ  กรุงศรีอยุธยามีแม่น้ำล้อมรอบทั้ง 3 ด้าน  คือ  แม่น้ำลพบุรี  แม่น้ำป่าสัก  และแม่น้ำเจ้าพระยา  ทำให้อยุธยาใช้เส้นทางทางน้ำติดต่อกับแว่นแคว้นที่อยู่ภายในได้สะดวก  เช่น  สุโขทัย    ล้านนา  ล้านช้าง นอกจากนี้ที่ตั้งของราชธานีที่อยู่ไม่ห่างไกลปากน้ำหรือทะเล  ทำให้อยุธยาติดต่อค้าขายทางเรือกับต่างประเทศที่อยู่ห่างไกลได้สะดวก  และเมื่ออาณาจักรมีความเข้มแข็ง  สามารถควบคุมการค้ารอบชายฝั่งทะเลอันดามัน  และโดยรอบอ่าวไทย ซึ่งเป็นแหล่งที่พ่อค้าต่างชาติเดินทางมาค้าขายได้  ทำให้อยุธยาสามารถทำหน้าที่เป็นพ่อค้าคนกลางในการติดต่อค้าขายระหว่างจีน  ญี่ปุ่นกับพ่อค้าต่างชาติอื่น ๆ กรุงศรีอยุธยาจึงเป็นศูนย์กลางที่สำคัญแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

  •  บทบาทสำคัญของอยุธยาทางการค้ามี 2 ประการ  คือ  เป็นแหล่งรวมสินค้าประเภทของป่าที่ต่างชาติต้องการและเป็นศูนย์กลางการค้าส่งผ่าน  คือ  กระจายสินค้าจากจีนและอินเดียสู่ดินแดนตอนในของภูมิภาค  เช่น  ล้านนา  ล้านช้าง  และส่งสินค้าจีนไปยังดินแดนต่างๆ ในมหาสมุทรอินเดีย  และรวบรวมสินค้าจากดินแดนตอนในและจากดินแดนต่างๆ ในอินเดียไปขายต่อให้จีน


  •  สินค้าประเภทของป่า ได้แก่  สัตว์ป่าและผลผลิตจากสัตว์ป่า  ไม้  เช่น  ไม้ฝาง  ไม้กฤษณา  ไม้จันทร์หอม  และพืชสมุนไพร  เช่น  ลูกกระวาน  ผลเร่ว  กำยาน  การบูร  เป็นต้น  สินค้าเหล่านี้ได้จากดินแดนภายในอาณาจักรอยุธยา และดินแดนใกล้เคียง  ผ่านทางระบบมูลนาย โดยแรงงานไพร่จะเป็นผู้หาแล้วส่งมาเป็น  "ส่วย"  แทนแรงงานที่จะต้องมาทำงานให้รัฐ  บางส่วนได้มาด้วยการซื้อหาแลกเปลี่ยนกับราษฎรและอาณาจักรเพื่อนบ้าน  แต่ส่วนใหญ่มาจากการเกณฑ์ส่วยจากหัวเมืองภายในอาณาจักร  โดยเฉพาะในรัชสมัยพระบรมไตรโลกนาถที่ปฏิรูปการปกครองหัวเมือง  ทำให้การเกณฑ์ส่วยรัดกุมมากกว่าเดิม  และส่วนหนึ่งมาจากเมืองประเทศราชของอยุธยา  นอกจากของป่าแล้ว  สินค้าออกยังได้แก่  พริกไทย  ดีบุก  ตะกั่ว  ผ้าฝ้าย  และข้าว  ส่วนสินค้าเข้าได้แก่  ผ้าแพร  ผ้าลายทอง  เครื่องกระเบื้อง  ดาบ  หอก  เกราะ  ฯลฯ



  • การค้ากับต่างประเทศในสมัยอยุธยาส่วนใหญ่เป็นการส่งเรือสำเภาไปค้าขายกับดินแดนต่างๆ  ที่สำคัญคือการค้ากับจีนภายใต้การค้าในระบบบรรณาการ  ที่จีนถือว่าไทยเป็นเมืองขึ้นของจีน  แต่อยุธยาเห็นว่าเป็นประโยชน์ทางการค้า  เพราะทุกครั้งที่เรือของอยุธยาเดินทางไปค้าขายกับจีนจะนำ  "ของขวัญ"  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าจากป่า  เช่น  นกยูง  งาช้าง  สัตว์แปลกๆ  กฤษณา  กำยาน  เป็นต้น  เป็นเครื่องราชบรรณาการไปถวายให้จักรพรรดิจีน  ซึ่งจีนจะมอบของตอบแทน  เช่น  ผ้าไหม  เครื่องลายคราม  ซึ่งเป็นสินค้าราคาแพงเป็นการตอบแทน  เรือสินค้าที่นำสินค้าไปค้าขายก็จะถูกละเว้นภาษีและได้รับการอนุญาตให้ค้าขายกับหัวเมืองต่างๆ ของจีนได้ นอกจากนี้อยุธยายังค้าขายกับหัวเมืองมลายู  ชวา  อินเดีย  ฟิลิปปินส์  เปอร์เซีย  และลังกา  การค้าส่วนใหญ่จะดำเนินการโดยพระมหากษัตริย์  เจ้านาย และขุนนาง  มีการค้าเอกชนบ้างโดยพวกพ่อค้าชาวจีนดำเนินการ  ลักษณะการค้ากับต่างประเทศในสมัยอยุธยาตอนต้นยังเป็นการค้าแบบเสรี  พ่อค้าต่างชาติยังสามารถค้าขายกับราษฎรได้โดยตรงไม่ต้องผ่านหน่วยงานของรัฐบาล  แต่ก็มีลักษณะการผูกขาดโดยทางอ้อมในระบบมูลนาย


  •                  หลังรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พ.ศ. 2034-2072)  การค้ากับต่างประเทศได้ขยายตัวเพิ่มขึ้น  เพราะอยุธยาเริ่มมีการติดต่อค้าขายกับชาติตะวันตก  เริ่มตั้งแต่ชาติโปรตุเกสใน พ.ศ. 2054  ต่อมาใน พ.ศ. 2059  อยุธยาได้ทำสัญญาทางพระราชไมตรีทางการค้ากับโปรตุเกส  เป็นฉบับแรกที่อยุธยาทำกับประเทศตะวันตก  จากนั้นก็มีชาติฮอลันดา (พ.ศ. 2142)  สเปน (พ.ศ. 2141)  อังกฤษ  ในรูปบริษัทอินเดียตะวันออก  บริษัทการค้าของฮอลันดา  เรียกว่า  V.O.C.  ส่วนบริษัทการค้าของอังกฤษ  เรียกว่า  E.J.C.  และฝรั่งเศสในสมัยพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199-2231)


  •  การค้ากับต่างประเทศเจริญรุ่งเรืองมากที่สุดในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พ.ศ. 2091-2111)  มีการตรากฎหมายหลายฉบับเกี่ยวกับการค้าและจัดระบบผูกขาดทางการค้าให้เป็นระเบียบยิ่งขึ้น คือ  มีการกำหนดสินค้าต้องห้าม  ซึ่งเป็นสินค้าที่รัฐบาลโดยพระคลังสินค้าเท่านั้นที่จะผูกขาดซื้อขาย  สินค้าขาเข้า  ได้แก่  ปืนไฟ  กระสุนดินดำ  และกำมะถัน  ส่วนสินค้าขาออก  ได้แก่  นอระมาด  งาช้าง  ไม้กฤษณา  ไม้จันทร์  ไม้หอม  และไม้ฝาง  ซึ่งต่อมาการค้าผูกขาดของรัฐ ได้เข้มข้นมากขึ้น  สินค้าบางประเภท  เช่น  ถ้วยชาม  ผ้าแดง  ซึ่งเป็นสินค้าในชีวิตประจำวันก็เป็นสินค้าผูกขาดด้วยและมีการจัดตั้ง "พระคลังสินค้า"  ให้รับผิดชอบดูแลการค้าผูกขาดของรัฐบาล  พระคลังสินค้าจึงเป็นหน่วยงานสำคัญในระบบเศรษฐกิจไทยในสมัยอยุธยาสืบต่อมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 4  แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในปลายสมัยอยุธยา "ข้าว" ได้กลายเป็นสินค้าออกที่สำคัญแทนที่สินค้าจากป่า  เนื่องจากเกิดทุพภิกขภัยอย่างรุนแรงในประเทศจีน  ชาวจีนจึงขอให้พ่อค้าอยุธยานำข้าวไปขายให้จีนโดยลดภาษีให้  นอกจากนี้อยุธยายังขายข้าวให้ฮอลันดา  ฝรั่งเศส  หัวเมืองมลายู  มะละกา  ชวา  ปัตตาเวีย  ญวน  เขมร  มะละกา  ลังกา  และญี่ปุ่น การค้ากับต่างประเทศจึงเป็นพื้นฐานสำคัญของเศรษฐกิจอยุธยา  ซึ่งนำความมั่งคั่งให้กลุ่มผู้ปกครอง ได้แก่  พระมหากษัตริย์  เจ้านาย  และขุนนางอย่างมหาศาล 


3.  รายได้ของอยุธยา

           1) รายได้ในระบบมูลนาย  แรงงานจากไพร่ถือเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจที่สำคัญ  รัฐบาลได้เกณฑ์      แรงงานจากไพร่ในระบบเข้าเดือนออกเดือน  หรือปีละ 6 เดือน  มาทำงานให้รัฐ  เช่น  การสร้างกำแพงเมือง  ขุดคลอง   สร้างวัด  สร้างถนน เป็นต้น  ไพร่ที่ไม่ต้องการทำงานให้รัฐก็สามารถจ่ายสิ่งของที่รัฐต้องการ  เช่น  มูลค้างคาว  สินค้าป่า  เรียกว่า  "ส่วย" แทนการเกณฑ์แรงงานได้ ส่วยเหล่านี้รัฐจะนำไปเป็นสินค้าขายยังต่างประเทศต่อไป

          2) รายได้จากภาษีอากร ภาษีอากรในสมัยอยุธยา มีดังนี้        

- ส่วย  คือ  สิ่งของหรือเงินที่ไพร่หลวงจ่ายให้รัฐทดแทนการถูกเกณฑ์มาทำงาน  โดยรัฐจะเป็นผู้กำหนดว่าท้องถิ่นใดจะส่งส่วยประเภทใด  เช่น  ส่วยดีบุก  ส่วยรังนก  ส่วยไม้ฝาง  ส่วยนอแรด  ส่วยมูลค้างคาว  เป็นต้น

  • - อากร  คือ  เงินที่เก็บจากผลประโยชน์ที่ราษฎรประกอบอาชีพได้  เช่น  การทำนา  จะเสียอากรค่านา เรียกว่า  "หางข้าว" ให้แก่รัฐ เพื่อรัฐจะได้เก็บไว้เป็นเสบียงอาหารสำหรับกองทัพ ผู้ที่ทำสวนเสียอากรค่าสวนซึ่งคิดตามประเภทและจำนวนต้นไม้แต่ละชนิด นอกจากนี้ยังรวมถึงการได้รับสิทธิจากรัฐบาลในการประกอบอาชีพ เช่น การอนุญาตให้ขุดแร่ การอนุญาตให้เก็บของป่า การอนุญาตให้จับปลาในน้ำ การอนุญาตให้ต้มกลั่นสุรา เป็นต้น


  • - จังกอบ  คือ  ค่าผ่านด่านขนอนทั้งทางบกและทางน้ำ  โดยเรียกเก็บตามยานพาหนะที่บรรทุกสินค้า เช่น  เรือสินค้าจะเก็บตามความกว้างของปากเรือตามอัตราที่กำหนด  จึงเรียกว่า  ภาษีปากเรือ  ส่วนพ่อค้าแม่ค้าในท้องถิ่นมักเก็บในอัตราสิบชักหนึ่ง- ฤชา  คือ  เงินที่รัฐเรียกเก็บจากการให้บริการจากราษฎร  เช่น  การออกโฉนด  หรือเงินปรับไหมที่ผู้แพ้คดีต้องจ่ายให้ผู้ชนะ  เงินค่าธรรมเนียมนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า  "เงินพินัยหลวง"


         3) รายได้จากต่างประเทศ ได้แก่ ผลกำไรจากการค้าเรือสำเภา ภาษีสินค้าขาเข้าและสินค้าขาออก สิ่งของที่ได้รับพระราชทานจากจักรพรรดิจีน บรรณาการจากต่างชาติที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับอยุธยา

สัปดาห์ที่13-ความสัมพันธ์กับชาติตะวันตก

13-ความสัมพันธ์กับชาติตะวันตก

ความสัมพันธ์กับชาติตะวันตก

          ในสมัยอยุธยาชาวตะวันตกจากทวีปยุโรปได้เข้ามามีความสัมพันธ์กับอยุธยาหลายชาติ การดำเนินการในด้านความสัมพันธ์ของอยุธยามีจุดมุ่งหมายที่สำคัญคือ สร้างสัมพันธไมตรี รับวิทยาการ เช่นการแพทย์ การศึกษา ก่อสร้าง บุคลากร รักษาเอกราชอาณาจักร โดยระบบคานอำนาจในหมู่ชาวตะวันตกด้วยกัน


โปรตุเกส

          เป็นชาวตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาติดต่อค้าขายในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 พ.ศ. 2054 เนื่องจากโปรตุเกสยึดครองหัวเมืองมะละกาได้เมื่อรู้ว่าเคยเป็นของอยุธยามาก่อนจึงได้ส่ง ทูตมาเจริญสัมพันธไมตรี โดยไทยอำนวยความสะดวกในการค้าและเผยแผ่ศาสนาและโปรตุเกสรับจัดหาปืนและกระสุนดินดำให้ฝ่าย อยุธยาความสัมพันธ์เริ่มเสื่อมเมื่อฮอลันดามาค้ากับอยุธยาจึงก่อความวุ่นวาย และถูกปราบปรามสมัยพระเจ้าปราสาททอง ความสัมพันธ์จึงเสื่อมลง

ฮอลันดา

        ได้เดินเรือมาติดต่อค้าขายในแถบเอเชียและมีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆและกลายเป็นคู่แข่งกับโปรตุเกสในปี 2147 สมัยสมเด็จพระนเรศวรบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาได้เข้ามาแทนที่โปรตุเกสที่เสื่อมอำนาจไป จุดประสงค์เพื่อการค้าอย่างเดียวอยุธยาในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถได้ส่งทูตไทย 16 คน เพื่อไปดูงานด้านต่อเรือเป็นครั้งแรกของไทยเหตุนี้เองทำให้ฮอลันดาได้สิทธิพิเศษทางการค้าในการซื้อหนังสัตว์ ผู้เดียวทำให้อังกฤษและโปรตุเกสไม่พอใจ ตอนหลังปลายสมัยพระนารายณ์การค้ากับฮอลันดา
เสื่อมลงเนื่อง จากไม่พอใจระบบผูกขาดสินค้าของไทย

สเปน

        ได้เข้ามาติดต่อสมัยพระนเรศวรพระองค์ทรงมอบช้าง 2 เชือกเป็นบรรณาการ แก่ผู้สำเร็จราชการสเปนที่มะนิลา ฟิลิปปินส์ ต่อมาเปลี่ยนผู้สำเร็จราชการคนใหม่สเปนจึงส่งราชสาสน์มาขอทำการค้ากับอยุธยา แต่การค้าไม่รุ่งเรืองเหมือนชาติอื่นๆ เนื่องจากสเปนมุ่งที่จะเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในเขมรและค้าขายกับเขมรมากกว่าไทย และเรื่อสำเภาไทยที่ไปค้าที่ฟิลิปปินส์ได้รับความเดือดร้อน จากการกระทำของสเปนพ่อค้าไทยจึงเลิกค้าขายกับสเปน

อังกฤษ

        ในสมัยพระเจ้าเจมส์ที่ 1 ได้ส่งพระราชสาส์นมากับพ่อค้า ถึงสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเพื่อติดต่อค้าขายโดยให้อยุธยาเป็นศูนย์การค้าเพื่อไปค้ากับจีนและญี่ปุ่น การค้าไม่ค่อยราบรื่นเพราะมีคู่แข่งสำคัญอย่างโปรตุเกส และฮอลันดาทำให้อังกฤษถอนสถานีการค้าที่อยุธยาออกไป มารื้อฟื้นขึ้นใหม่ในสมัยพระนารายณ์ โดยพระองค์ต้องการให้อังกฤษถ่วงดุลอำนาจกับฮอลันดาแต่ไม่สำเร็จ แถมมีปัญหากันเรื่องการค้าความสัมพันธ์จึงปิดฉากลงตั้งแต่นั้นมา

ฝรั่งเศส

           เป็นชาติสุดท้ายที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับอยุธยา คณะแรกที่เข้ามาเป็นบาทหลวงในปี พ.ศ. 2205 เนื่องจากสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ให้เสรีภาพด้านศาสนา จึงทำให้ในปี 2216 สังฆราชแห่งฝรั่งเศสได้นำสาส์นพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มาถวายพระนารายณ์ โดยความช่วยเหลือ  ออกญาวิชาเยนทร์หรือ( คอนสแตนตินฟอลคอน) ชาวกรีกที่มารับราชการในอยุธยา สมเด็จพระนารายณ์จึงส่งคณะทูตไปฝรั่งเศสอีก 2 ชุด

          ใน พ.ศ. 2223 และ พ.ศ. 2227 แต่ชุดแรกเรือล่มก่อน ส่วนชุด 2 ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และคณะทูต จากฝรั่งเศสก็ติดตามมาด้วยคือ  เชอ วาริเอร์ เดอโชมองต์ โดยคณะทูตชุดนี้ได้มีจุดหมายเพื่อสร้างสัมพันธ์ ทางการค้า และโน้มน้าวให้สมเด็จพระนารายณ์เข้ารีตนับถือคริสต์

         ปี พ.ศ. 2228 คณะทูตฝรี่งเศส เดินทางกลับพร้อมคณะทูตไทย คือออกพระวิสุทธสุนทร หรือ (ปาน) ความสัมพันธ์กับฝรั่งเศสมาถึงจุดสุดท้ายช่วงปลายสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ออกญาวิไชเยนทร์ วางแผนร่วมกับชาวฝรั่งเศสเพื่อยึดครองอยุธยา แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเพราะถูกกวาดล้างเสียก่อน โดยขุนนางไทย คือ พระเพทราชาและพรรคพวกทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับฝรั่งเศสสิ้นสุดลง

 สรุป

        ความสัมพันธ์กับชาวตะวันตกส่วนใหญ่จะเป็นทางด้านการค้าเป็นหลักช่วยสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจแก่อยุธยาอย่างมากแต่มีบางประเทศที่เข้ามาติดต่อโดยมีศาสนาเป็นเรื่องบังหน้ามีเรื่องการเมืองแอบแฝง เช่น ฝรั่งเศส เป็นต้น

สัปดาห์ที่12-ความสัมพันธ์กับชาติต่าง ๆในทวีปเอเชีย

12-ความสัมพันธ์กับชาติต่าง ๆในทวีปเอเชีย

ความสัมพันธ์กับชาติต่าง ๆในทวีปเอเชีย

          ในสมัยกรุงศรีอยุธยานอกจากจะมีความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงแล้วกรุงศรีอยุธยายังมีความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชียหลายประเทศโดยมีประเทศสำคัญได้แก่

จีน 

          มีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับอาณาจักรอยุธยา เริ่มตั้งแต่ พระเจ้าหงหวู่หรือหงอู่ (หรือจูหยวงจาง) ซึ่งเป็นจักรพรรดิองค์แรกของราชวงศ์หมิงขึ้นปกครองจีนได้ทรงส่งทูตไปยังอาณาจักรต่างๆ รวมทั้งกรุงศรีอยุธยาด้วยโดยในพ.ศ.1913ได้ทรงส่งราชทูตอัญเชิญพระบรมราชโองการมายัง กรุงศรีอยุธยา ซึ่งตรงกับสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1(ขุนหลวงพะงั่ว) ในปีต่อมา คือพ.ศ. 1914

         ทางกรุงศรีอยุธยาได้ส่งคณะราชฑูตไทยได้อัญเชิญพระราชสาสน์และบรรณาการไปถวาย ซึ่งนับได้ว่าเป็นความสัมพันธ์ทางการฑูตครั้งแรก ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับจีน หลังจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนเป็นไปด้วยความราบรื่นปรากฏว่าไทยได้ส่งทูตไปเมืองจีนเป็นประจำทุกปีและบางปีมากกว่าหนึ่งครั้งคือ ระหว่าง 1914 - 2054 ทางอยุธยาส่งทูตไปเมืองจีนถึง 89 ครั้งเป็นต้น อยุธยาค่อนข้างให้ความสำคัญกับประเทศจีนมาก ความสัมพันธ์กับจีนเป็นรูปแบบรัฐบรรณาการ อยุธยาต้องการตลาดสินค้าใหญ่อย่างจีน และไม่ต้องเสียภาษีขาเข้าเพียงแต่ยอมอ่อนน้อมกับจีนซึ่ง จีนถือตัวเองเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาลใครมายอมอ่อนน้อมจะได้รับการคุ้มครอง และได้ผลประโยชน์กลับบ้านมากกว่าที่อยุธยาส่งบรรณาการไปถวายเสียอีกสินค้าที่เราส่งไปจีนการที่ไทยได้ส่งคณะฑูตบรรณาการไปจีนบ่อยครั้งนั้นผลที่ได้ คือเราได้สิทธิพิเศษทางการค้ากับจีนเพราะคณะฑูตนั้นจะนำสินค้าจากอยุธยามาขายที่จีนด้วยและตอนขากลับก็จะนำสินค้าจากจีน ไปขายที่อยุธยา ด้วย ในการติดต่อค้าขายระหว่างอยุธยากับจีนนั้นต่างก็มีความต้องการสินค้าของกันและกันสินค้าที่ไทย ต้องการจากจีน ได้แก่ ผ้าไหม ผ้าแพร เครื่องกระเบื้อง เป็นต้น ส่วนสินค้าที่จีนต้องการจากไทย เช่น เครื่องเทศ รังนก ข้าวพริกไทย

           ต่อมาชาวตะวันตกได้เข้ามาติดต่อค้าขายกับอยุธยามีสินค้าบางอย่างที่จีน ซื้อสินค้าของชาติตะวันตกจากอยุธยาไปด้วย เช่นเครื่องแก้ว เครื่องหอม พรม เป็นต้น


ญี่ปุ่น 
          ชาวญี่ปุ่นได้เข้ามาตั้งบ้านเรือนและเข้ามาทำมาหากินอยู่ในกรุงศรีอยุธยามาตั้งแต่ พ.ศ.2083 ซึ่งตรงกับปลายรัชกาลของสมเด็จพระไชยราชาธิราช และชาวญี่ปุ่นได้อาสาสมัครในครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชยกองทัพไปรบกับพม่าในสงครามยุทธหัตถีใน พ.ศ.2135ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นเริ่มอย่าง เป็นทางการในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ( พ.ศ.2148 -2153 ) กับโชกุนโตกุงาวะ  อิเอยาสุ ใน พ.ศ.2149 ญี่ปุ่นได้ส่งสาสน์มาเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับสมเด็จพระเอกาทศรถพร้อมด้วยดาบ เสื้อเกราะเป็นเครื่องราชบรรณาการ และในขณะเดียว กันได้ทูลขอปืนใหญ่และไม้หอมจากไทย สมเด็จพระเอกาทศรถจึง ส่งสาสน์ตอบไปญี่ปุ่นเป็นการตอบแทน ซึ่งนับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทยกับญี่ปุ่น
           ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับญี่ปุ่น เจริญสูงสุดในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ.2153 - 2171 ) เพราะในสมัยนี้ทางการกรุงศรีอยุธยาได้ส่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับญี่ปุ่นถึง 4 ครั้งคือใน พ.ศ.2159 , 2164 ,  2166 , 2168
           ส่วนความสัมพันธ์ทางด้านการค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นซึ่งนับว่ามีความสำคัญมากนั้น โดยที่ญี่ปุ่นต้องการสินค้าจากไทย คือ ข้าว ดีบุก น้ำตาล ไม้ หนังกวาง สินค้าที่ไทยต้องการจากญี่ปุ่น คือ ทองแดง เงินเหรียญ ของญี่ปุ่น ฉากลับแล เป็นต้น

            ชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยานอกจากเป็นทหารอาสาแล้วมี ชาวญี่ปุ่นบางคนเข้ารับราชการในอยุธยาในตำแหน่งที่สูงคือ ยามาดา นางามาซา ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นออกญาเสนาภิมุข ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นหลังจากสิ้นสุดสมัยพระเจ้าทรงธรรม แล้วเริ่มเสื่อมลง เช่นในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองส่งคณะฑูตไปญี่ปุ่น 5 ครั้ง แต่ไม่ได้รับการต้อนรับ จากญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นมีนโยบายที่จะอยู่อย่างโดดเดี่ยว และปิดประเทศตั้งแต่ พ.ศ.2182 ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นสิ้นสุดลง

อิหร่าน 

          ชาวอิหร่านหรือชาวอาหรับได้เข้ามาติดต่อค้าขายกับอยุธยาและเข้ารับราชการในราชสำนักไทยตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เช่นเฉกอะหมัด หรือต่อมาเป็นต้นตระกูลบุนนาค ความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับอิหร่านนั้นไทยได้ส่งทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีกับอยุธยาแต่ไม่ค่อยราบรื่นนักเพราะถูกออกญาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนตินฟอลคอน) กีดกันลังกา ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีความสัมพันธ์กับลังกาเพราะทางลังกาได้ส่งทูตมาขอพระสงฆ์จากไทยเพื่อไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ในลังกาสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทางลังกาจึงเรียกพระสงฆ์ที่ไปปฏิบัติพระธรรมที่ลังกาว่าลัทธิสยามวงศ์  

สรุป

            ความสัมพันธ์กับชาติในเอเชียส่วนใหญ่เป็นเรื่องการค้าเพื่อสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเป็นหลักโดยเฉพาะการค้ากับ จีนทำให้อยุธยาได้ประโยชน์มากมายจากรูปแบบความสัมพันธ์แบบรัฐบรรณาการ ส่วนกับญี่ปุ่นก็เช่นกัน จนมีชาวญี่ปุ่นเข้ามารับราชการในสมัยอยุธยา คือ ยามาดาได้รับพระราชทานยศเป็น(ออกญาเสนาภิมุข)

สัปดาห์ที่11-ความสัมพันธ์กับดินแดนใกล้เคียง


            สุโขทัย ล้านนา (เชียงใหม่) มอญ พม่า ล้านช้าง (ลาว) เขมร และมลายูความสัมพันธ์กับอาณาจักรสุโขทัย  ซึ่งถูกรวมเป็นอันเดียวกับอยุธยาตั้งแต่ ปี 2006 เป็นต้นมาโดยตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทองก่อตั้งอยุธยาก็ดำเนินนโยบายแผ่ขยายอำนาจเข้าสู่สุโขทัย  โดยเข้ายึดเมืองพิษณุโลกซึ่งเป็นของสุโขทัยไว้ พระมหาธรรมราชาที่ 1 แห่งสุโขทัยได้ส่งเครื่องบรรณาการมาทูลขอคืนจึงคืนให้และเท่ากับว่า สุโขทัยได้ยอมอยู่ใต้อำนาจอยุธยาตั้งแต่นั้นมาก และสมัยพระอินทราชาได้ทูลขอธิดา พระมหาธรรมราชาที่ 2 ให้สมรสกับเจ้าสามพระยา (พระโอรส)   ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็น การสร้างสัมพันธ์ทางเครือญาติระหว่างสองอาณาจักรด้วยความสัมพันธ์กับสุโขทัยสิ้นสุดลงเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ   ไปประทับที่พิษณุโลก สุโขทัยก็ถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของอยุธยาโดยสิ้นเชิง

ความสัมพันธ์กับล้านนา (เชียงใหม่)

           หลังจากที่ได้สุโขทัยไว้ในครอบครองแล้ว อยุธยาก็รุกต่อขึ้นเหนือหวังยึดครองล้านนา แต่ยกไปตีหลาย ครั้งไม่สำเร็จ ระยะหลังเกิดสงครามเพราะสุโขทัยไปยอมอ่อนน้อมต่อล้านนา ในสมัยพระเจ้าติโลกราช ของ ล้านนา เพื่อหวังให้ล้านนาช่วยรบกับอยุธยา แต่ในที่สุดสมัยพระไชยราชาธิราชล้านนาก็ตกเป็นของอยุธยา

ความสัมพันธ์กับมอญ

           อาณาจักรมอญส่วนใหญ่จะเป็นรัฐกันชนระหว่างพม่ากับอยุธยา ส่วนใหญ่พม่าจะยึดครองมากกว่าไทยเหตุผลของความสัมพันธ์ กับมอญเพราะอยุธยาต้องการครอบครองหัวเมืองชายฝั่งที่เป็นเมืองท่าเพื่อติดต่อค้าขายกับต่างชาติ เช่น เมือง ทวาย มะริด และตะนาวศรี เป็นต้นมอญเคยตกเป็นของไทยสมัยพระนเรศวร เท่านั้น นอกนั้น ตกเป็นของพม่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2081 เป็นต้นมา

ความสัมพันธ์กับพม่า

           ความสัมพันธ์ไทยกับพม่าสมัยอยุธยาเป็นไปในรูปของสงครามโดยตลอดเพื่อแย่งชิงการปกครองเมือง ประเทศราช ส่วนปัจจัยทางเศรษฐกิจ เป็นไปเพื่อแย่งชิงเมืองท่าในเขต อ่าวเบงกอล ของมอญด้วยสาเหตุที่พม่ามีแผ่นดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ จึงต้องขยายอาณาเขตออกมาทางมอญ และล้านนา ซึ่งมีพรมแดน ติดอยุธยา ดังนั้นมอญจึงเป็นรัฐกันชน เมื่อพม่าได้มอญกับล้านนาแล้วก็มักแผ่อำนาจมายังอยุธยาเสมอ

ความสัมพันธ์กับล้านช้าง (ลาว) ล้านช้า

          เป็นมิตรที่แสนดีกับไทยสมัยอยุธยามาตลอดแม้เวลาเราติดศึกพม่าก็ส่งทัพมาช่วยรบมีความสัมพันธ์ ทางเครือญาติเช่นสมัยพระเจ้าอู่ทองได้พระราชทานพระแก้วฟ้า แก่พระเจ้าสามแสนไทย สมัยสมเด็จ พระจักรพรรดิก็ได้ร่วมกันสร้างอนุสรณ์ความร่วมมือที่ดีต่อกัน คือพระธาตุศรีสองรักที่จังหวัดเลย และ พระราชทานธิดาพระนางเทพกษัตรีแก่พระเจ้าไชยเชษฐาแต่ถูกพม่าชิงตัวไปก่อน

ความสัมพันธ์กับเขมร

         เป็นไปในลักษณะการรับวัฒนธรรมประเพณี เช่นการปกครองรูปแบบสมมุติเทพ และวัฒนธรรมประเพณี ในฐานะเป็นเมืองประเทศราชของไทย บางครั้งเขมรก็แยกเป็นอิสระหรือไปหันไปพึ่งญวณและมักมาโจมตี ไทยเวลาอยุธยามีศึกกับพม่าสมัยเจ้าสามพระยาของอยุธยาทรงยกทัพไปยึดพระนครของเขมร เขมรต้องย้าย เมืองหลวงไปอยู่ป่าสานและพนมเปญปัจจุบัน ความสัมพันธ์ของเขมรกับไทยมีทั้งด้านการเมืองและศิลปวัฒนธรรมในด้านการเมือง 

 ความสัมพันธ์กับมลายู

           จะเป็นไปในรูปของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพราะช่องแคบมะละกาเป็นทางผ่านที่จะไปสู่อินเดียและจีน อยุธยาจึงต้องการครอบครอง จึงขยายอำนาจทางทหารไปครอบครอง โดยปรากฏหลักฐานว่าอยุธยายกทัพ ไปโจมตีหลายครั้ง จนถึงสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 พ.ศ. 2054 โปรตุเกสยึดมะละกาได้ ส่วนหัวเมืองมลายูอื่นๆ ยังเป็นของอยุธยา จนถึงปี พ.ศ.2310 อยุธยาเสียกรุงครั้งที่ 2

 สรุป

           ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการขยายเขตแดนและเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการค้า

           ดังนั้นจึงไม่พ้นการทำสงคราม โดยเฉพาะกับพม่าซึ่งเรามักเป็น ฝ่ายตั้งรับมากกว่าการยกทัพไปรุกราน อยุธยาต้องเสียกรุงแก่พม่าถึง 2 ครั้ง ครั้งแรก ปี พ.ศ. 2112 สมัยพระมหินทราธิราช ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 สมัยพระเจ้าเอกทัศน์